วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

เหตุผลกับภาษา



เหตุผลกับภาษา


เหตุผล  คือ  ความคิดสำคัญซึ่งจะเป็นหลัก เป็นเกณฑ์ หรือเป็นข้อเท็จจริงซึ่งมีข้อสรุปรอรับอยู่ 
ความคิดหลักดังกล่าวจะทำให้ข้อสรุปหนักแน่นและน่าเชื่อถือ
 

โครงสร้างของการแสดงเหตุผล  ประกอบด้วย 

      1. เหตุผล ,ข้อรับรอง ,ข้อสนับสนุน                2. ข้อสรุป 


ตัวอย่าง
     ฉันไม่ชอบดูมวย เพราะไม่อยากเห็นความรุนแรง ไม่ชอบที่จะเห็นใครเจ็บปวด
     ข้อสรุป               คือ       ฉันไม่ชอบดูมวย
       ข้อสนับสนุน        คือ       ไม่อยากเห็นความรุนแรง ไม่ชอบที่จะเห็นใครเจ็บปวด

ลักษณะของภาษาที่ใช้ในการแสดงเหตุผล  มีดังนี้



1.  ใช้คำสันธาน  เช่น   เพราะ  จึง  ดังนั้น เพราะฉะนั้น  โดยที่ 
 เช่น  ระยะนี้ต้องดูหนังสือหนัก เพราะใกล้สอบแล้ว     
    

2.  ไม่ต้องใช้สันธาน  แต่เรียบเรียงข้อความทั้ง2 ส่วนให้เหมาะสม   
 เช่น  เมืองกาญจน์เป็นเมืองที่มีภูเขามาก อากาศดี ฉันอยากไปเที่ยวอีก



            3.  ใช้คำ กลุ่มคำที่บ่งชี้ว่าเป็นเหตุผลหรือเป็นข้อสรุป  เช่น จากการประชุมของ
                คณะกรรมการนักเรียน เรามีมติว่าให้กรรมการแต่ละฝ่ายไปเขียนโครงการของตน
                มาส่งที่ประธาน สัปดาห์หน้า

                           

            4.  ใช้เหตุผลหลายๆข้อประกอบกัน เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้แก่ข้อสรุป                    
                 เช่น  ที่ฉันลาออกจากราชการแล้วมาปลูกต้นไม้ขาย   ก็เพราะเบื่อชีวิต
ราชการ
                 ที่ต้องทำตามคำสั่งเจ้านายทั้งที่ไม่อยากทำ  ชอบปลูกต้นไม้เพราะต้นไม้ทำให้
                 สดชื่น ผ่อนคลาย  สบายใจ ยิ่งปลูกก็ยิ่งเพลินก็เลยมีมากขึ้นเรื่อยๆจนพอที่จะขาย
                


วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2559

หน้าแรก

นางศิริพรรณ  รักร่วม

ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ ทักษิณ จังหวัดสงขลา

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

การแนะนำหนังสือ


 การแนะนำหนังสือ หรือ  การปฏิทัศน์  

 การแนะนำหนังสือ หรือการปฏิทัศน์หนังสือ    เป็นการแนะนำที่ง่ายและสะดวกต่อผู้ที่จะเลือกอ่านเป็นอย่างยิ่ง 

           ๑.   ชื่อเรื่อง 
           ๒.  ชื่อผู้แต่ง       จะบอกนามปากกาหรือนามจริงก็ได้ โดยอาจเพิ่มเติมประวัติเข้าไป
เพื่อเพิ่มความละเอียดก็ได้
 

           ๓.   สำนักพิมพ์   สำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์ ควรระวัง อย่าใส่โรงพิมพ์เข้าไปแทน
เพราะอาจทำให้
   สับสนได้ 

           ๔.   ปีที่พิมพ์       บอก ปี พ.ศ.ที่พิมพ์ อาจอยู่ด้านในปกหรือท้ายเล่ม 
           ๕.   ขนาดหนังสือและจำนวนหน้า     บอกจำนวนหน้ายกและหน้าทั้งหมด 
           ๖.    ราคา 
           ๗.   ประเภทของหนังสือ 
           
๘.   เนื้อหาหนังสือ    ทำให้ทราบขอบเขตเนื้อหาโดยสังเขป 
           ๙.   ความเหมาะสมของผู้อ่าน    เช่น    เหมาะกับนักเรียน  คุณครู หรือผู้สูงวัย เป็นต้น

            


             

    
ตัวอย่างการแนะนำหนังสือ 

        ชื่อหนังสือ                 สามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า ดินแดนอาถรรพณ์       ชื่อผู้แต่ง       ภิรมย์ พุทธรัตน์ 
        สำนักพิมพ์                สุขภาพใจ                                                         ปีที่พิมพ์       พ.ศ. ๒๕๔๑
        จำนวนหน้า               ๑๘๔  หน้า                                                       ราคา              ๑๐๐    บาท
        ประเภทของหนังสือ  สารคดี
        เนื้อหาโดยย่อ 
                       เรื่องจริงอันลึกลับมหัศจรรย์ ที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก 
 เมื่อเรือและเครื่องบินนับร้อยพร้อมผู้โดยสารหายสาบสูญไร้ร่องรอย
 ในหนังสือได้กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน รวมทั้งเรือเดินสมุทร
ไม่ว่าจะเป็นของกองทัพหรือพร้อมผู้โดยสารที่หายไปอย่างไม่มีสาเหตุ   
รวมทั้งได้กล่าวถึงจานบินลึกลับ หรือ UFO  ซึ่งปรากฏอยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย 
และในเล่ม ผู้แต่งยังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์นั้นๆด้วย
  
ความเหมาะสมสำหรับผู้อ่าน

                       ผู้อ่านควรจะมีวิจารณญาณในการอ่าน หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับ

ผู้อ่านทั่วไป และผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ

ผู้แนะนำหนังสือ    พิมพ์สรร  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต



ตัวอย่าง ที่ 2     เรื่องระเด่นลันได
         







ทำนองแต่ง                   -   ใช้กลอนบทละคร
ลักษณะคำประพันธ์     -   ประเภทกลอนบทละครผู้แต่ง                            -   พระมหามนตรี (ทรัพย์)ผู้แต่ง                            -   พระมหามนตรี (ทรัพย์) จัดพิมพ์                        -   Wisdom จัดพิมพ์ครั้งที่               -   2 /2553 จำนวนหน้า                  56            หน้า จัดจำหน่าย                   -  บริษัทบุ๊ค พอยท์ จำกัด

ได้รับการยกย่องว่า    เป็นวรรณคดีล้อเลียนเล่มแรกของไทย  ที่เป็นเลิศในด้านสำนวนและฝีปากการประพันธ์               เพราะมีเอกลักษณ์ในการประพันธ์ที่ยากจะหาวรรณคดีล้อเลียนเรื่องใดมา เปรียบ มีเนื้อเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน 

เรื่องย่อ    ชู้รักของระเด่นลันได คิดถึงระเด่นลันได จึงมาหาเช่นเคย   พอพบนางประแดะเข้าจึงเกิดหึงหวงกัน
จบตอนที่เป็นคำกลอนแค่นี้   ต่อจากนั้นเป็นร้อยแก้ว    ดำเนินเรื่องว่า นางกระแอเข้าไปในเรือนเกิดโต้เถียงตบตี
กับนางประแดะ นางประแดะสู้ไม่ได้ลงเรือนหนีไป      ระเด่นลันไดกับนางกระแอปรับความเข้าใจกันได้
ต้นฉบับของพระมหามนตรีหมดเพียงเท่านี้
 

ข้อคิดเห็น       ระเด่นลันได มีอาชีพขอทานอยู่แถบหน้าโบสถ์พราหมณ์ วันหนึ่งมาขอทานถึงที่อยู่ของท้าวประดู่
เผอิญท้าวประดู่ต้อนวัวไปเลี้ยง เหลือแต่นางประแดะภรรยา   ระเด่นลันไดเห็นนางเข้าก็นึกรัก สีซอเป็นเพลงเกี้ยว
นางก็เกิดความรักขึ้นเช่นกัน นำข้าวกล้องและปลาสลิดลงมาให้ ระเด่นลันไดถามชื่อและฐานะของนาง ถึงแม้นาง
จะบอกว่ามีสามีแล้ว  ระเด่นลันไดก็ไม่งดเว้น ตรงเข้าจับมือถือแขนและกลับนัดแนะว่า ตอนดึกจะลอดร่องขึ้นไปหา
นางประแดะพูดออกตัวว่า ท้าวประดู่เป็นคนหึงหวง  ขอให้ระเด่นลันไดรีบไปเสีย พร้อมกับสะบัดมือหนี
ระเด่นลันไดเห็นท่าไม่ได้การจึงจากไป  วันนั้น ท้าวประดู่ประสบลางร้ายหลายอย่างไม่สบายใจ  รีบต้อนวัว
กลับบ้านเร็วกว่าปกติ  ครั้นเห็นข้าวกล้องและปลาสลิดหายไป ก็ซักไซ้ไล่เรียงนางประแดะ นางเห็นว่าจะ
ปิดความไว้ไม่มิด  จึงบอกความจริงว่า ให้ทานแก่โอรสกษัตริย์องค์หนึ่ง  ท้าวประดู่รู้ทันทีว่า ขอทานผู้นั้น
ต้องได้แก่ ระเด่นลันได เกิดเดือดดาลหึงหวงขึ้นทันที ทุบตีขับไล่นางประแดะออกจากบ้านไป  โดยมิพักฟัง
คำสารภาพผิดของนาง  กล่าวฝ่ายระเด่นลันได พอถึงยามปลอดก็ลอดร่องขึ้นไปหานางประแดะ  ไม่ทันได้
พิจารณาก็ตรงเข้ากอดรัดท้าวประดู่ ด้วยความเข้าใจผิดคิดเป็นนาง  พอรู้ผิดตัวก็รีบหนี  เผอิญไปพบ
นางประแดะเข้ากลางทางเลยรับไปไว้บ้าน ได้นางเป็นภรรยา   กล่าวถึงนางกระแอ ชาวทวาย อาชีพขายขนม
                  บทละครเรื่องนี้เป็นบทล้อสังคมเรื่องแรกในวรรณคดีไทย อาจล้อเพียงเรื่องแขก ซึ่งเมียมีชู้  หรือล้อ
เรื่องอิเหนา ซึ่งเชิดชูอิเหนา กษัตริย์เจ้าชู้ไว้มากเกินไป หรือล้อทั้งสองเรื่องก็เป็นได้  พระมหามนตรีเขียนเรื่องนี้
ได้ดีถึงขนาด แทรกบทขบขันไว้ลึกซึ้งแนบเนียนมาก กระบวนกลอนเกลี้ยงเกลาไพเราะหู น่าอ่านน่าฟังตลอดเรื่อง







วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

การอธิบาย บรรยายและพรรณนา

การใช้ภาษาอธิบาย บรรยายและพรรณนา


การอธิบาย

ความหมาย       หมายถึง  การทำให้บุคคลอื่นเข้าใจในความจริง ความสัมพันธ์ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ
วิธีการอธิบาย    มีหลายวิธี ดังนี้
1.       ชี้แจงตามลำดับขั้น เป็นการอธิบายกิจกรรม การปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เป็นกระบวนการหรือกรรมวิธี
2.       ใช้ตัวอย่าง  เป็นการอธิบายหลักการ วิธีการ ข้อความรู้ที่เข้าใจยาก โดยใช้ตัวอย่างช่วยในการอธิบาย
3.       เปรียบเทียบความเหมือนกันและแตกต่างกัน เป็นการอธิบายสิ่งแปลกใหม่ที่ผู้ฟังยังไม่คุ้นเคยมาก่อน แล้วหาสิ่งที่ผู้ฟังคุ้นเคยมาเปรียบ  
4.       ชี้สาเหตุและผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กัน บางเรื่องที่อธิบายอาจเป็น เรื่องที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างสาเหตุและผลลัพธ์ ก็ต้องอธิบายกันว่าอะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นผลลัพธ์

5.       ให้นิยาม  เป็นการอธิบายความหมายของคำ  / คำศัพท์ ที่มักใช้ถ้อยคำสั้นๆ  ทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านไม่เข้าใจ จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มให้เข้าใจยิ่งขึ้น


ตัวอย่างการอธิบาย   ด้วยวิธีชี้แจงลำดับขั้น
          “การกราบ ใช้ในโอกาสที่แสดงความเคารพอย่างสูงต่อผู้มีอาวุโส
ส่วนมากขณะนั่งกับพื้น การปฏิบัติมีดังนี้

1.      คุกเข่าลงทั้งสองข้าง
2.      นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า
3.      ก้มตัวลงหมอบให้แขนทั้งสองข้างอยู่ข้างเข่าที่ยื่นออกมา
4.      พนมมือให้อยู่ในระดับพื้น
5.      ก้มศีรษะลงจรดนิ้วหัวแม่มือ                                                                                         
                                               มรรยาทไทย   ของ  ผอบ  โปษกฤษณะ


ตัวอย่างการอธิบาย   ด้วยวิธีใช้ตัวอย่าง
       การค้นพบบางอย่างในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจิตวิทยาของตะวันตก ได้ให้หลักฐานสอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนาว่าด้วยชีวิตในชาติปางก่อน
        ตัวอย่าง ผู้หญิงถูกสะกดจิตรายหนึ่งได้เล่าย้อนความทรงจำของเธอไปหลายร้อยปีกว่า เธอเคยเป็นแม่บ้านอยู่ในฝรั่งเศสมาก่อน นักประวัติศาสตร์ต่างยอมรับความถูกต้องของสถานที่ ภาษา และวิถีชีวิตของคนสมัยนั้นที่เธอได้เล่าให้ฟังตอนนั้น และอีกหลายรายที่มีประวัติของการย้อนระลึกถึงชาติปางก่อน

ซึ่งได้ตีพิมพ์ในนิตยสารจากนักวิทยาศาสตร์ผู้ที่มีชื่อเสียง
                                                  หนังสือธรรมะ ฉบับ แก้ทุกข์ใจ ชุดที่ ๑ ของ เชวง  เดชะไกศยะ


ตัวอย่างการอธิบายด้วยวิธีเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างกัน
           รามเกียรติ์   รัชกาลที่ 1    มีความมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์  ซึ่งกระจัดพลัดพรายอยู่นั้น ให้คุมกันเข้าเป็นเรื่องละเอียดลออ ทุกแง่ทุกมุม แม้จะแต่งเป็นกลอนบทละคร  แต่ก็มิได้คำนึงถึงการนำไปแสดงละครเป็นประการสำคัญ
           รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2   มีความมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นบทละครในโดยตรง
                                                     รามเกียรติ์ปริทัศน์  ของ ชำนาญ รอดเหตุภัย


ตัวอย่างการอธิบายด้วยวิธีชี้สาเหตุและผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กัน
              เพราะสังคมนิยมส่งเสริมความสำราญ ให้คุณค่าแก่วัตถุที่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก สังคมจึงเชิดชูความมั่งคั่งมากกว่าคุณธรรม  เงินจึงได้รับการบูชามากกว่าน้ำใจ ความแล้งน้ำใจครั้งนั้นเป็นเครื่องชี้แสดงถึงความแล้งน้ำใจในบ้านเมือง ซึ่งจะต้องรีบแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป
                  คุณค่าชีวิต  ของ  ระวี  ภาวิไล


ตัวอย่างการอธิบายด้วยวิธีให้นิยาม
              ที่จริงแล้ว  โขนก็คือละครรำชนิดหนึ่งนั่นเอง (ละครใน) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 อธิบายความหมายไว้ว่า  โขน  คือ ละครชนิดหนึ่งซึ่งผู้เล่นสวมหน้ากากและหัวต่างๆที่เรียกว่า หัวโขน ส่วนละครนั้นนิยามไว้ว่า คือการมหรสพอย่างหนึ่งที่เล่นเป็น                                                                 โขนละครฟ้อนรำ ภาคพิเศษ ของ สุนันทา โสรัจจ์


การบรรยาย


ความหมาย    หมายถึง  การเล่าเรื่องหรือประสบการณ์ของผู้เขียนให้ผู้อ่านได้รับรู้และเข้าใจ เหมือนกับผู้อ่านได้ประสบกับเหตุการณ์นั้นด้วยตนเอง
วิธีการบรรยาย      อาจทำได้หลายวิธี โดยพิจารณาตามความเหมาะสมแก่เนื้อเรื่องหรือจุดประสงค์ของตน  เช่น
1.       บรรยายให้ครบว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่ออะไร
2.       บรรยายโดยเน้นเหตุการณ์ตามลำดับของเวลาที่เป็นจริง
3.       บรรยายโดยสลับเหตุการณ์ คือ อาจจะเริ่มจากเหตุการณ์สุดท้ายของเรื่องแล้วย้อนกลับไปกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนต้น หรืออาจสลับเปลี่ยนกันบ้างก็ได้
4.       เลือกเฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญ   ที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องถึงเหตุการณ์อื่นๆมาบรรยาย
5.       เลือกใช้วิธีอื่นๆแทรกไว้ในการบรรยาย เช่น แทรกบทพรรณนา หรือผูกเรื่องเป็นบทสนทนา โดยการตั้งคำถามให้คิด แล้วคลี่คลายเป็นคำตอบ

ตัวอย่างการบรรยาย
           ผมเกิดที่บ้านสวน ธนบุรี หน้าบ้านติดคลองวัดดอกไม้ไม่ไกลจากสถานีตำรวจบุปผารามปัจจุบันมากนัก สถานีตำรวจแห่งนี้สร้างมาก่อนผมเกิด แต่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เดิมเป็นเรือนไม้สูง พื้นชั้นล่างลาดซีเมนต์ มีเรือนพักตำรวจเป็นเรือนแถวเก่าๆไม่กี่ห้อง หน้าโรงพักมีถนนผ่านกลาง ฝั่งตรงข้ามคือวัดดอกไม้ ซึ่งเป็นศัพท์ชาวบ้าน ภาษาราชการเรียกว่า วัดบุปผาราม
                  เด็กบ้านสวน  ของ พ.เนตรรังษี



การพรรณนา


ความหมาย      หมายถึง   การเรียบเรียงข้อความเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ประทับใจ เกิดจินตนาการ     คือ  ทำให้เห็นภาพและมีความรู้สึกร่วมกับผู้เขียน
วิธีการพรรณนา  มีหลายวิธี ดังนี้
1.       แยกส่วนประกอบสิ่งที่จะพรรณนา  โดยชี้ให้เห็นว่า แต่ละส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างไร
2.       ชี้ลักษณะเด่น  
3.       การใช้ถ้อยคำ   ต้องเลือกสรรถ้อยคำที่เหมาะสมทั้งเสียงและความหมาย   เพื่อให้ผู้อ่านเกิดมโนภาพ เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์


ตัวอย่างการพรรณนา ด้วยวิธีชี้ลักษณะเด่น
              อ้อมผ่านไม้ใหญ่ขนาดสองโอบ กองธงทั้งสี่พบเห็นพญาลอหมอบซุกอยู่กลางกอหญ้าเหลืองเกรียมหน้าแดงสดใสดังสีน้ำคร่ำ ขนปีกเลื่อมระยับจับแดดเป็นสีเขียวก่ำแกมคราม แล้วทาทับด้วยทองแจ่มจนสว่างไสว ขนหางอ่อนโค้งราวแกล้งดัด เหลือบแรรุ้งร่วง กลมกลืนอ่อนแก่ดูเรียวระหง ขนอกอ่อนนุ่มดูนวลเนียนราวไม่เคยคลุกฝุ่นเผ้าละอองดิน
                   หุบเขากินคน ของ มาลา คำจันทร์



 ตัวอย่างการพรรณนา  

   “ อันเทวาลัย  ซึ่งมีผนังดำคร่ำด้วยความชรา ประหนึ่งว่า  ยินดีรับเอาแสงแดดกำลังรอนๆจวนจะเลือนหายไปจากฟ้า  เปรียบด้วย ชายชราได้ดื่มน้ำทิพย์แล้ว กลับฟื้นคืนความกระชุ่มกระชวยขึ้น  ฉะนั้นภายล่างแห่งแสงซึ่งเรืองรองดั่งทองทาประสมกับเงาไม้กลายเป็นสีม่วงแลดูเต้นระยับไปทุกแห่งหน  ถึงเวลาตอนนี้ที่ประชุมสงบเงียบยิ่งกว่าเก่า   เงียบจนดูเหมือนใบไม้ที่เคยไหวก็หยุดเงียบไปด้วย 

ตัวอย่างการพรรณนา โดยการใช้ถ้อยคำ
          " รัศมีมีเพียงเสียงดนตรี         ประทีปทีฆรัสสะจังหวะโยน
 ระเมียนไม้ใบโบกสุโนกเกาะ           สุดเสนาะเสียงนกซึ่งผกโผน
โผต้นนั้นผันตนไปต้นโน้น                จังหวะโจนส่งจับรับกันไป"

ตัวอย่างการพรรณนา โดยการใช้ถ้อยคำ
        สูงระหงทรงเพรียวเรียวรู     งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา        ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ
คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย            จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตรีหักงอ                 ลำคอโตตันสั้นกลม
สองเต้าห้อยตุงดังคุงตะเคียว        โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม         มันน่าเชยน่าชมนางเทวี"       
 [บทละคร เรื่องระเด่นลันได  ของพระมหามนตรี(ทรัพย์)]


ตัวอย่างการพรรณนา โดยการใช้สัญลักษณ์ช่วย
          เมื่อแรกเชื่อว่าเป็นเนื้อทับทิมแท้     มาแปรเป็นพลอยหุงไปเสียได้
กาลวงว่าหงส์ให้ปลงใจ                           ด้วยมิได้ดูหงอนแต่ก่อนมา


แนวทางการพัฒนาความสามารถในการอธิบาย  บรรยาย  และพรรณนา       มีดังนี้
1.       อ่านมากฟังมาก 
2.       ช่างสังเกต
3.       จดบันทึก
4.       ใช้ภาษามีประสิทธิภาพ
5.      ฝึกฝนอยู่เป็นนิจ