วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

การโต้แย้ง แสดงทรรศนะและโน้มน้าวใจ

การโต้แย้ง

การโต้แย้ง  หมายถึง การแสดงทรรศนะที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล ๒ ฝ่าย  ซึ่งแต่ละฝ่ายจะต้องพยายามหาหลักฐาน เหตุผล ข้อมูลมาสนับสนุนทรรศนะของตนเองให้น่าเชื่อถือ

โครงสร้างของการโต้แย้ง  ประกอบด้วย
 ๑.  ข้อสรุป
 ๒.  เหตุผล

หัวข้อและเนื้อหาของการโต้แย้ง ไม่จำกัดขอบเขต แต่ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าจะโต้แย้งในหัวข้อใด

กระบวนการโต้แย้ง

การโต้แย้ง แบ่งได้เป็น ๔ ขั้นตอน  ดังนี้
  ๑.   การตั้งประเด็นในการโต้แย้ง
  ๒.   การนิยามคำและกลุ่มคำสำคัญที่อยู่ในประเด็นของการโต้แย้ง
  ๓.   การค้นหาและเรียบเรียงข้อสนับสนุนทรรศนะของตน
  ๔.   การชี้ให้เห็นจุดอ่อนและความผิดพลาดของทรรศนะของฝ่ายตรงกันข้าม


      ๑.     การตั้งประเด็นในการโต้แย้ง  มี  ๓   ประเภท  คือ
-         เกี่ยวกับนโยบาย หรือข้อเสนอ  เพื่อให้เปลี่ยนแปลงสภาพเดิม
-         เกี่ยวกับข้อเท็จจริง
-         เกี่ยวกับคุณค่า
      ทั้ง๓ ประเภทนี้  มักจะมีความรู้สึกส่วนตัวแทรกอยู่ด้วย
     
      ๒.      การนิยามคำและกลุ่มคำสำคัญที่อยู่ในประเด็นการโต้แย้ง
             การนิยามคำและกลุ่มคำสำคัญ  หมายถึง  การกำหนดความหมายของคำและกลุ่มคำให้รัดกุม และแจ่มชัดลงไปว่า   ผู้นิยามต้องการที่จะให้ขอบเขตของความหมายของคำและกลุ่มคำนั้นๆครอบคลุมหรือบ่งชี้ถึงอะไรบ้าง คำสำคัญที่อยู่ในประเด็นการโต้แย้งจะช่วยกำจัดขอบเขตและทิศทางของการโต้แย้ง

       ๓.     การค้นหาและเรียบเรียงข้อสนับสนุน ทรรศนะของตน
          อาจค้นหาได้จากการอ่าน การฟัง การสัมภาษณ์ และการสังเกตด้วยตนเอง

       ๔.      การชี้ให้เห็นจุดอ่อนและความผิดพลาดของทรรศนะฝ่ายตรงข้ามซึ่งมี  ๓  ประการ คือ
     -         ชี้จุดอ่อนของการนิยาม
     -         ชี้จุดอ่อนในด้านปริมาณความถูกต้องของข้อมูล
     -         ชี้จุดอ่อนของสมมุติฐานและวิธีการอนุมาน

การวินิจฉัยเพื่อตัดสินข้อโต้แย้ง   มี  ๒  แบบ   คือ

        ๑.     พิจารณาเฉพาะเนื้อหาสาระที่แต่ละฝ่ายนำมาโต้แย้งกัน
          เช่น   การตัดสินโต้วาทีการตัดสินคดีของผู้พิพากษา
        ๒.     วินิจฉัยโดยใช้ดุลพินิจของผู้ตัดสินมาประกอบการพิจารณา
          เช่น  การตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง  การตัดสินเพื่อลงมติในที่ประชุม

           ข้อควรระวังในการโต้แย้ง
        ๑.     ควรหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์
        ๒.     ควรมีมารยาทในการใช้ภาษา (วัจนภาษาและอวัจนภาษา)
        ๓.     

ควรเลือกประเด็นที่มีแนวทางสร้างสรรค์และก่อให้เกิดประโยชน์

สรุป  ข้อสังเกตในการโต้แย้ง
   ๑.     เปิดโอกาสให้มีการโต้แย้ง
   ๒.     จำนวนผู้โต้แย้ง  ระยะเวลา
   ๓.     ต้องใช้ความคิด วิจารณญาณ ที่อาศัยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์


ตัวอย่าง


  ตัวอย่าง    ข้อความการโต้แย้ง  
      การเดินประท้วงของกลุ่มนักวิชาการ ประชาชนระดับสูงและระดับกลางไม่พอใจที่ผู้นำไร้คุณธรรมจริยธรรม ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในกรณีการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี

ที่มา...คู่มือเตรียมสอบภาษาไทย O-met  A-net  ของ  อ.เพลินใจ และอ.นันทพงศ์ พฤกษชาติรัตน์


     จากตัวอย่างข้อความข้างต้น        
         การโต้แย้ง  ประกอบด้วย  เหตุผลและข้อสรุป    
              ข้อความที่เป็นเหตุผล       ผู้นำไร้คุณธรรม
              ข้อความที่เป็นข้อสรุป      กลุ่มนักวิชาการ ประชาชนระดับสูงและระดับกลาง เดินประท้วง




การใช้ภาษาแสดงทรรศนะ

โครงสร้างของการแสดงทรรศนะ    ประกอบด้วยส่วนสำคัญ  ๓  ส่วน คือ
  .  ที่มา คือ  ส่วนที่เป็นเรื่องราวต่างๆที่ทำให้เกิดการแสดงทรรศนะ
  .  ข้อสนับสนุน คือ  ข้อเท็จจริง  หลักการ รวมทั้งทรรศนะหรือมติของผู้อื่น ที่ผู้แสดงทรรศนะนำมาใส่เพื่อสนับสนุนทรรศนะของตน
  .  ข้อสรุป คือ  สาระสำคัญที่สุดของทรรศนะอาจเป็นข้อเสนอแนะ ข้อวินิจฉัยหรือประเมินค่า



ความแตกต่างระหว่างทรรศนะของบุคคล
.   คุณสมบัติตามธรรมชาติของมนุษย์  ได้แก่   เชาว์  ปฏิภาณ  ไหวพริบ  ความถนัด   เป็นต้น จะพัฒนาได้เต็มที่ต้องอาศัยการส่งเสริมและสนับสนุนจากสิ่งแวดล้อม 
.  อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม  อาจเป็น ธรรมชาติ   หรือสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นที่อยู่แวดล้อมตัวมนุษย์

     ความรู้ ประสบการณ์   -  จะทำให้บุคคลแสดงทรรศนะได้แตกต่างกันไป
     ความเชื่อ   -  บุคคลแสดงทรรศนะต่างกันตามความเชื่อ ซึ่งได้จากการศึกษาอบรมทางครอบครัว และสิ่งแวดล้อม หรือวัยและประสบการณ์

     ค่านิยม   -  คือ ความรู้สึกที่มีอยู่ในจิตใจแต่ละคนเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมและอิทธิพลต่อการแสดงทรรศนะของบุคคล




   ประเภทของทรรศนะ
๑.   ทรรศนะเกี่ยวกับข้อเท็จจริง  คือ  ทรรศนะที่เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว  แต่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง  จึงมีการถกถียงกัน  การแสดงทรรศนะประเภทนี้จึงเป็นเพียงการสันนิษฐานจะน่าเชื่อถือเพียงใดขึ้นกับข้อสนับสนุน 
๒.  ทรรศนะเกี่ยวกับคุณค่า  ค่านิยม  เป็นทรรศนะที่ประเมินว่า สิ่งใดดีหรือด้อย เป็นประโยชน์หรือ โทษ
๓.  ทรรศนะเกี่ยวกับนโยบาย เป็นทรรศนะที่บ่งชี้ว่า ควรทำอย่างไรอย่างไรต่อไปในอนาคต หรือ ควรแก้ไขปรับปรุงสิ่งใด ไปในทางใด อย่างไร  การแสดงทรรศนะเกี่ยวกับนโยบาย มักจะต้องเสนอข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนนโยบายและประเมินค่านโยบายที่เสนอนั้นด้วย

วิธีใช้ภาษาในการแสดงทรรศนะ
             ภาษาที่ใช้ในการแสดงทรรศนะนั้น  จะต้องใช้ถ้อยคำกะทัดรัด ให้คำที่มีความหมายแจ่มชัด
การเรียงลำดับความไม่สับสน วกวน  และต้องใช้ภาษาให้ถูกต้องกับระดับการสื่อสาร


ลักษณะที่ควรสังเกตในการใช้คำหรือกลุ่มคำในการแสดงทรรศนะ

. ใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ หรือคำนามที่ประกอบกับกริยาวลีที่ชี้ชัดว่า เป็นการแสดงทรรศนะ เช่น
          -   พวกเรามีความเห็นว่า ………
          -   ข้าพเจ้าเข้าใจว่า…………..…
          -   ผมขอสรุปว่า………………...
. ใช้คำหรือวลีที่บ่งชี้ว่าเป็นการแสดงทรรศนะเช่นคำว่า  น่า    คง  คงจะ  ควร  พึง  ตัวอย่าง
          -   รัฐบาลน่าจะทบทวน………………
          -   คณะนักเรียนคงเข้าใจผิดว่า……….
         -   โรงเรียนควรจะต้องคำนึงถึง………





ลักษณะทรรศนะที่ดี  ประเมินค่า   ดังต่อไปนี้

1.  มีประโยชน์และลักษณะสร้างสรรค์  ทรรศนะที่ดีควรก่อให้เกิดประโยชน์ และก่อให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ขณะเดียวกันก็คงสิ่งดีงามของสังคมไว้
2.  มีความสมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ  ทรรศนะที่ดีจะต้องมีข้อสนับสนุนที่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้ข้อสรุปน่าเชื่อ

3.  ความเหมาะสมกับผู้รับสารและกาลเทศะ ในการพิจารณาจะต้องพิจารณาด้วยว่าทรรศนะนั้นแสดงแก่ผู้ใดและในโอกาสใด เพื่อจะประเมินได้ว่าเหมาะสมหรือไม่
4.  ใช้ภาษาชัดเจน  ภาษาที่ใช้ต้องชัดเจนแม่นตรงตามที่ต้องการ และเหมาะสมแก่ระดับการสื่อสาร
หรือไม่ เพียงใด


            การใช้ภาษาเพื่อโน้มน้าวใจ                 


การโน้มน้าวใจ  หมายถึง  การใช้ความพยายามที่จะเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติ  ค่านิยมและพฤติกรรมของบุคคลอื่น ด้วยกลวิธีที่เหมาะสมจนเกิดการยอมรับและยอมเปลี่ยนตามที่ผู้โน้มน้าวใจต้องการ



กลวิธีการโน้มน้าวใจ มี    6   วิธี  ดังนี้
1.   แสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของบุคคลผู้โน้มน้าวใจ  
บุคคลผู้โน้มน้าวใจจะต้องมีคุณลักษณะ ๓ ประการ คือ  
มีความรู้จริง มีคุณธรรมและปรารถนาดีต่อผู้อื่น
2.  แสดงให้เห็นถึงความหนักแน่นของเหตุผล คือ  
มีเหตุผลและข้อสรุปที่หนักแน่น ควรค่าแก่การยอมรับ
3. แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วมกัน  คนที่มีความรู้สึกและมีอารมณ์ร่วมกันย่อมคล้อยตามกันได้ง่ายกว่าคนที่เป็นปฏิปักษ์
4.  แสดงให้เห็นทางเลือกทั้งด้านดีและด้านเสีย  เพื่อให้มีโอกาสใช้วิจารณญาณเปรียบเทียบว่าทางที่แนะดีกว่า
5.   สร้างความหรรษาแก่ผู้รับสาร ทั้งนี้ต้องให้เหมาะสมกับกาลเทศะด้วย

6. เร้าให้เกิดอารมณ์อย่างแรงกล้า  เพราะเมื่อเกิดอารมณ์ มักขาดเหตุผลขาดการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็จะตัดสินใจคล้อยตามผู้โน้มน้าวใจได้ง่าย


ลักษณะ น้ำเสียงของภาษาที่โน้มน้าวใจ
             ควรเป็นลักษณะเชิงเสนอแนะ  ขอร้อง  วิงวอนหรือเร้าใจ การใช้ถ้อยคำให้เกิดน้ำเสียงดังกล่าว จะต้องเลือกใช้คำให้สื่อความหมายตามที่ต้องการ


การพิจารณาสารโน้มน้าวใจลักษณะต่างๆ
1.  คำเชิญชวน   เป็นการแนะให้ช่วยกันกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น แผ่นปลิว  ประกาศ  โปสเตอร์  
     หากเป็นประกาศเชิญชวน  มักจะบอกจุดประสงค์ไว้ชัดเจน ชี้ให้เห็นประโยชน์แก่ส่วนรวม บอกวิธีปฏิบัติ หากทำได้จะได้รับการยอมรับย่างมีเกียรติในสังคม
      ตัวอย่างคำเชิญชวน  เช่น  ชวนให้บริจาคโลหิต  เชิญชวนให้บริจาคดวงตา
2.   โฆษณาสินค้า หรือโฆษณาบริการ   เป็นการส่งสารโน้มน้าวใจต่อสาธารณชน เพื่อประโยชน์ในการขายสินค้าและบริการเหล่านั้นซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ  ดังนี้
           -   บทโฆษณาจะมีส่วนนำที่สะดุดหู สะดุดตา โดยใช้ถ้อยคำแปลกๆใหม่ๆ น่าสนใจ
           -   ใช้คำกะทัดรัด รูปประโยคสั้นๆ ได้ความหมายชัดเจน
           -   เนื้อหาจะชี้ให้เห็นคุณภาพของสินค้า ส่วนมากจะเกินความเป็นจริง
      -  มุ่งสนองความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค โดยพยายามจับจุดอ่อนกลุ่มเป้าหมาย เพราะจะทำให้คล้อยตามได้ง่าย
           -   เนื้อหาของโฆษณามักขาดเหตุผล ขาดความถูกต้องทางวิชาการ (ผู้ฟังต้อง รู้เท่าทัน)
           -   สารโฆษณา จะปรากฏทางสื่อต่างๆ ซ้ำๆหลายครั้ง เพื่อให้จำได้

การโฆษณาประเภทนี้   มีทั้งประโยชน์และโทษต่อสังคม

ประโยชน์ของการโฆษณา
         -   ทำให้รู้จักสินค้าและบริการที่หลากหลาย ส่งผลถึงยอดจำหน่ายทำให้สินค้าราคาถูกลงได้
         -   ทำให้สื่อมวลชนมีรายได้ จากค่าโฆษณา  ทำให้สามารถจัดรายการที่มีประโยชน์แก่สาธารณชนได้


    โทษของการโฆษณา
-         ทำให้ผู้รับสารเกิดการเข้าใจผิด
-         ทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น
-         มีผลเสียด้านการใช้ภาษา

-         เยาวชนมีค่านิยมที่ไม่ถูกต้องในบางเรื่อง

3.        โฆษณาชวนเชื่อ   เป็นการพยายามโดยเจตนาที่จะเปลี่ยนความเชื่อและการกระทำของบุคคลจำนวนมาก  ให้เป็นไปในทางที่ฝ่ายตนต้องการ ด้วยกลวิธีต่างๆโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามเหตุผลและข้อเท็จจริง

    การโฆษณาชวนเชื่อ  แบ่งอย่างกว้างๆได้  ๒  ชนิด  ดังนี้
๑.   การโฆษณาชวนเชื่อทางการค้า
๒.   การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง


กลวิธีที่นิยมใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ   ซึ่งผู้รับสารควรพิจารณา   มีดังนี้
๑.   ตราชื่อ  ฝ่ายตรงกันข้ามที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย ก็จะสรรหาชื่อแปลกๆ เพื่อเร้าอารมณ์ผู้ฟังทำให้เกิดภาพที่ไม่ดี    เช่น    สิงห์อมควัน     สิบแปดมงกุฎ     เจ้าพ่อเจ้าแม่  อันธพาล
๒.   การใช้ถ้อยคำหรูหรา  เพื่อให้เกิดความเลื่อมใส เชื่อถือ  ผู้รับสารหลงคล้อยตาม  โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง เช่น สิทธิเสรีภาพของเรา ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ประโยชน์ของปวงประชา
๓.  อ้างบุคคลหรือสถาบัน  การอ้างถึงบุคคลหรือสถาบันที่ผู้รับสารยอมรับนับถือ จะทำให้ผู้ฟัง
เกิดความเชื่อถือและคล้อยตามได้ง่าย

๔.  ทำเหมือนชาวบ้านธรรมดา วิธีนี้เป็นการแสดงตนว่าเป็นพวกเดียวกัน เพื่อจะได้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งจะทำให้ชักจูงได้ง่าย
๕.  อ้างแต่ประโยชน์ตน  วิธีนี้จะชี้ให้เห็นแต่ประโยชน์ฝ่ายตน ไม่พูดถึงข้อบกพร่องให้รู้
๖.  อ้างคนส่วนใหญ่  การอ้างคนส่วนใหญ่ทำให้ผู้รับสารเห็นว่า คนส่วนใหญ่ปฏิบัติเช่นนั้น
เชื่อเช่นนั้น ถ้าผู้ฟังปฏิบัติเหมือนคนส่วนใหญ่ ก็จะไม่ผิดแผกไปจากคนอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น